วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

หลงกลิ่นชาในเมืองดอกไม้ "นูวา เอลิยะ" Nuwa Eliya



ด้วยระยะทางเพียง 90 กิโลเมตรจากเมืองแคนดี (Kandy) เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง “นูวารา เอลิยะ” (Nuwara Eliya) เมืองสีมรกรต ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงที่สุดตอนกลางของประเทศศรีลังกาหรือซีลอนในอดีต เราใช้เวลาหมดเปลืองไปกว่า 5 ชั่วโมง

รถตู้ของเรา ยังคงลัดเลี้ยวและเลาะไปตามไหล่เขาอันคดเคี้ยวราวกับเขาวงกต จากถนนเลนกว้างเริ่มแคบลงไปเรื่อยๆ จากโค้งป้านๆ บางช่วงเป็นโค้งหักศอกถี่ขึ้นทางหลวงสายแคบๆนี้บางช่วงรถต้องจอดหลีกหลบกันตลอด
แต่ทิวขาสูงๆต่ำๆสลับกับทุ่งอันกว้างใหญ่ไพรศาลมองไปทางไหนเห็นแต่โทนสีเขียวเขียว แล้วก็เขียวสุดลูกหูลูกตา คนที่ชื่นชอบธรรมชาติจะรู้สึกรื่นรมย์เป็นพิเศษเพราะต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามรายทางมีแต่ไซส์บิ๊กบึ้มทั้งนั้น บางต้นสูงลิ่วเสียดฟ้าแถมยังดูสุขภาพดี ลำต้นอวบอิ่ม ใบสะอาดใสนิ้ง เช่น ต้นสะเดา ต้นจามจุรี ต้นยูคาลิบตัสและต้นสน นับว่าเป็นขวัญตาที่ได้เห็นความอะแมสซิ่งศรีลังกา น่าชื่นชมคนของเขาและรัฐบาลที่คอยูแลเอาใจใส่ธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยมขนาดนี้

ทิวทัศน์บางช่วงเป็นทุ่งโล่งกว้างสีเขียวอื๋อ อยู่ๆก็มีธารน้ำตกขนาดใหญ่โผล่ตัวออกมาอวดความงาม สายน้ำสีขาวโพลนไหลหลั่งเสียงดังเซ็งแซ่ก้องกังวาลไปทั่วทั้งหุบเขา ตามแนวหน้าผาสูงชันบนเขาเทือกนี้ ยังมีการปลูกหญ้าแฝกซ้อนทับกันถี่ยิบเพื่อกันดินถล่มไว้ด้วย มีดงดอกไม้ป่านานาพรรณเกี่ยวเกาะห้อยอยู่ตามขอบผา ทั้งดอกมอร์นิ่งกอรี่สีม่วงคราม(เห็นมาตลอดทาง)และดอกไอริสป่าสีส้มแจ๋น กำลังแข่งกันผลิบานไปทั่วทั่งเขา



รถของเราเริ่มไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไร่ชาสีเขียวก็เริ่มปรากฏโฉมให้เห็นหนาตามากขึ้นๆ พื้นที่สูงในการปลูกชาของศรีลังกามีหลากหลายจะไต่จากระดับตั้งแต่ 500 เมตรไป 1,000 เมตร และขึ้นไปจน ถึง 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ยิ่งสูงมากเท่าไร ชาที่ปลูกก็จะได้คุณภาพดีมากเท่านั้น เมฆหมอกที่ลอยพัดผ่านไปผ่านมาอยู่ ตลอดเวลาจะนำสายฝนพรำ หล่นลงมาด้วยเป็นระยะๆ ทำให้ไร่ชาซึ่งเขียวอยู่แล้วก็จะดูเขียวฉ่ำขึ้นแบบดับเบิ้ล

หน้าไร่ชาริมทางหลายแห่งเป็นที่ตั้งของโรงผลิตชาหรือโรงบ่มใบชา ซึ่งมีขนาดใหญ่โตโอฬารป้ายชื่อแต่ละแบรนด์ล้วนเป็นยี่ห้อคุ้นชินทั้งนั้น บางโรงผลิตชาได้เปิดเป็นร้านอาหารและมีห้องน้ำสะอาดไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว บางโรงบ่มชายังอนุญาติให้นักท่องเที่ยวเจาะข้าไปชมการผลิตถึงภายในโรงงานได้เลยทีเดียวและเกือบจะทุกแห่ง ต้องมีผลิตภัณฑ์จากใบชาจำหน่าย ถ้าได้หยุดแวะคุณจะได้ลองลิ้มชิมรสชาต่างๆ ส่วนกระเป๋าสตางค์ก็จะแฟบฟีบลงไปชั่วพริบตาเช่นกัน



แต่ละโรงงานมีผลิตภัณฑ์มีชาให้เลือกหลากหลายจนตาลาย ชาซีลอน แบ่งไปตามชนิด ตามเกรดของใบชา สนนราคาตั้งแต่ถูกสุดจนถึงแพงระยับอย่าง “ชาขาว” (white Tea) เป็นชาที่เกรดดีเยี่ยมที่สุด มีรสชาติดีเลิศเพราะใช้แต่ยอดใบชา ยิ่งถ้าอยู่ในแพ็คเกจจิ้งสุดหรูอย่างในโถเซรามิกเนื้อดี ในกล่องไม้บุกำมะหยี่ หรือในโถโลหะชุบเงินชุบทองแดงหรือนากด้วยแล้ว ราคาจะพุ่งทะยานขึ้นไปอีกหลายเท่า

ยังมีชาบางชนิดถูกแต่งรสด้วยเครื่องเทศ หรือ "Spice Tea" ซึ่งจะมีกลิ่นหอมเร่าร้อน อาทิ ชาผสมซินามอน (Cinnamon) หรืออบเชย ชาผสมพริกไทยดำ (Black Pepper) หรือชาผสมลูกจันทร์ (Nut Mweg) และชาผสมกานพลู (Gloves) ที่จะช่วยทำให้ปากและลมหายใจหอมที่สุดหลังดื่ม นี่ยังไม่รวมชาที่ผสมเครื่องแกงต่างๆ อีกนะ (โอว์…. ตื่นตามาก) ชาบางชนิดอร่อยลิ้นจนรู้สึกซู่ซ่าทีเดียว

หลายวันที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสได้ลิ้มชิมรส “ชาซีลอน” หลายแบบตามเมืองต่างๆ แต่ที่ประทับใจมากที่สุดคือ “ชานม” ซึ่งเป็นชาแบบที่คนพื้นถิ่นเขานิยมดื่มกันหรือถูกเรียกว่า “เมกที” คือ เขาจะชงชาดำแก่จัดๆ แล้วใส่นมข้นหวานตามลงไปชงจากนั้นก็เดาะน้ำตาลทรายลงไปหน่อย

ซึ่งน้ำชาจะมีสีส้มนวลสวยและที่สำคัญหอมมากด้วย ส่วนรสชาติไม่ต้องพูดถึง เพราะถูกคอพี่ไทยล้นเหลือ เสียดายที่เมืองนี้เค้าไม่ทานน้ำแข็งกัน ไม่งั้นพี่ไทยคงได้ฟาดชาเย็นจนตาค้างทุกวันแน่ๆ


ชาซีลอนมีหลายเกรดอย่าง เกรดชั้นดีเลิศหรือระดับเอลิสต์ เขาเรียกว่า B O P F ย่อมาจากคำว่า Broken Orange Peko Fine ถือว่าเป็นชาชั้นเยี่ยมยอดให้รสชาติหอมละมุน รองลงมาคือแบบ B O P ซึ่งยังถือว่าอยู่ในเกรดเดอะเบส แต่รสชาติจะเข้มกว่าแบบแรก ต่อไปคือชาที่เป็นแบบเศษผงหรือเรียกว่า Dust 1 กับ Dust 2 ชาประเภท Dust นี้ จะทำออกมาขายในรูปของผงชาบรรจุซองหรือแบบถุง ( ที่มีเชือกผูก ) คือ ให้ชงดื่มในน้ำร้อนเดือดแบบจุ่มใส่ถ้วยชา



ผู้เขียนขออกตัวไว้ก่อนว่า..ไม่ใช่เป็นเซียนดื่มชา แต่ชอบดื่มชามากเพราะไม่เคยริแตะกาแฟ ชาซีลอนเป็นหนึ่งในชาดวงใจเพราะเป็นชาดำ (Black Tea) มีกลิ่นหอมแรงสีเข้มสวย รสชาติเข้มข้นสะใจดี

ถ้าจะดื่มชาแบบ B O P F มักจะชงใส่ในน้ำร้อนเดือดพล่านแล้วปล่อยให้ชาแช่ไว้อย่างน้อยสามนาที รสชา จะเข้มออกขมนิดๆ ดื่มแล้วจะได้รับกลิ่นหอมของใบชาไปเต็มๆ แต่ถ้าใส่นมลงไปจิ้ดนึง ก็จะช่วยทำ ให้รสชาติน้ำชา กลอมกล่อมขึ้น แต่แบบที่ชอบไม่รู้เบื่อ คือ แบบที่ชงแล้ว เดาะน้ำตาลลงไปก้อนเล็กๆ จากนั้นก็หย่อนมะนาวสดฝานเป็นแผ่นบางๆตามลงไปด้วย อืม…จิบแล้วขอบอกว่ารสชาติชาจะหรูแบบ ต้นฉบับอังกฤษเลยทีเดียว


การดื่มชาจะได้อรรถรสแบบอังกฤษขนานแท้ เค้าว่า…ช่วงเวลาทีไทม์ ถ้าได้นั่งเม้าท์ๆกันอยู่ในบรรยากาศ ที่จัดโต๊ะน้ำชาสีขาวไว้บนเทอร์เรซเหนือเนินเขาสีเขียวหรือบริเวณสนามหญ้าสีเขียวขจี พร้อมกับปักร่มสีขาว สะอาดกันแดดเอาไว้ด้วยแล้วปล่อยให้สีเขียวกับสีขาวตัดกันฉับเพื่อสร้างสารเอนดอร์ฟิน (สารแห่งความสุข) ที่จะช่วยบิ้วอารมณ์ให้รสชาติชาอร่อยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งถ้าใช้ชุดน้ำชาเป็นชุดกระเบื้องเคลือบขลิบทองเนื้อบางอย่าง ชุดกระเบื้องกระเบื้องเคลือบลายกุหลาบป่าจากแบรนด์นอริตาเกะ (Noritake) แบรนด์ดังกระฉ่อนโลก ที่มีฐานผลิตอยู่ที่ศรีลังกานี่เอง แล้วกัดสโกนหรือขนมปังครัมเปตตามไปด้วย การดื่มชามื้อนั้นๆ คงจะสมบูรณ์แบบยิ่งเชียวละครับ

ถ้าได้มาถึงศรีลังกาแล้วคุณจะต้องไม่พลาดที่จะต้องลองลิ้มชิมรสน้ำชาที่ใส่น้ำตาลพื้นบ้านของเขาด้วย น้ำตาลของที่นี่หาใช่น้ำตาลพื้นๆ อย่างน้ำตาลอัดก้อน น้ำตาลกรวดหรือน้ำตาลทรายแดงแต่น้ำตาลที่ว่า คือ “น้ำตาลบึก” ซึ่งเป็นน้ำตาลที่เคี่ยวมาจากน้ำตาลที่ได้มาจาก “ต้นเต่าร้าง” หรือ Plam Fish Tail

ต้นเต่าร้างเมืองนี้ ไม่เหมือนเตาร้างบ้านเราที่ลำต้นมีหนามแหลมยาวใบและผลคันขะเยอแต่ต้นเต่าร้างที่นี่ ไร้หนามแหลม ลำต้นอวบอ้วนอั๊ก ใบก็ใหญ่และหนานิ่มจนลู่ ในหุบเขาที่ผ่านมามีขึ้นกันพรึ้บ เขาจะกรีดน้ำตาล ที่บริเวณลำต้นเหมือนการกรีดยาง พอได้น้ำตาลแล้วจะเอาไปเคี่ยวจนงวดแล้วหยอดใส่ในพิมพ์กะลามะพร้าว พอแห้งแล้วคว่ำออกมาจะได้น้ำตาลบึกเป็นรูปก้อนครึ่งวงกลมก้อนใหญ่เกือบเท่าชามแกง สีสันดูเหมือนน้ำตาล คาราเมล สวย หอมและฉ่ำ (ไม่ซีดขาวเหมือนน้ำตาลบึกจากน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลมะพร้าวแบบบ้านเรา)

ต้นเต่าร้างที่นี่นอกจากให้ประโยชน์สำหรับคนแล้ว สัตว์คู่บ้านคู่เมืองซีลอนอย่างช้าง ก็ได้รับอานิสงฆ์จาก น้ำตาลในต้นเต่าร้างด้วย ช้างที่ถูกเลี้ยงเขาจะให้กินต้นและใบเต่าร้างแทนอ้อยเพราะน้ำตาลจากต้นเต่าร้าง มีส่วนประกอบของน้ำตาลฟรุกโตส คือกินแล้วจะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่ม ดังนั้นไม่ว่าคน หรือช้างที่นี่ เขาจึงปลื้มกับการหม่ำน้ำตาลจากต้นเต่าร้างมากๆ
ถ้าคุณมีโอกาสได้มาเที่ยวศรีลังกา หนึ่งสิ่งที่ควรลิ้มลองและควรคว้าติดมือกลับบ้านมาด้วยก็คือ “น้ำตาลบึก จากต้นเต่าร้าง" ตามโรงแรมระดับสี่ถึงห้าดาวในทุกมื้ออาหารเช้า ท่านจะได้จะเอ๋กับน้ำตาลบึกเตาร้างบนโต๊ะบุฟเฟ่เสมอๆ เพราะเขาจะหั่นไว้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ไว้ใส่เครืองดื่มหรืออาหารแค่แอบหยิบใส่ปากอมไว้เฉยๆ ก็มีความสุข สุขแป้นได้ทั้งวัน สำหรับท่านที่ขาดหวานไม่ลงชาร้อนทุกมื้อควรหย่อนน้ำตาลบึกเต่าร้างลงไปด้วยสักก้อน ขอการันตีเลยว่าชาถ้วยนั้นจะเป็นชาที่วิเศษสุดๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นจะดื่มชารสใด เกรดไหน? จะอร่อยเป็นที่ประทับใจ คงขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบของตัวท่านเอง ที่สำคัญอย่าทานน้ำตาลมากจนเกินไปแล้วกัน  


หลังจากที่ได้ช้อปกระหน่ำจนกระเป๋าฟีบไปตามๆกันแล้ว เราจึงออกเดินทางต่อสักพักใหญ่ก็มาถึงใจกลาง เมืองนูวารา เอลิยะ ค่ำคืนนี้เราจะได้พักในโรงบ่มชาโบราณที่งามที่สุดของเมือง ซึ่งมีประวัติอันยาวยืดและปัจจุบันได้ถูกดัดแปลงเป็นโรงแรมสุดหรูชื่อ “ The Tea Factory & Spa Kanapola” ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาชา อันเขียวขจีและที่นี่ยังถูกการันตีด้วยรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางด้านสถาปัตยกรรมดีเด่นในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกแห่งองค์การยูเนสโกประจำปี 2001 “The Unessco Asia –Pacific Heritage 2001” อีกด้วย


คนขับรถฟันขาวจั๊วของเราบอกกับเราว่ายังพอมีเวลาชิลๆ ที่จะให้ทุกคนลงไปเดินทอดน่อง ยืดเส้นขยับเอ็น กันได้ในเมืองนูวารา เอลิยะ สถานที่แรกที่น่ามุ่งและพุ่งไปทำตัวนัวเนียมากที่สุด คือ ภาพชีวิตในตลาดกลางแจ้ง ที่ด้านหน้าตลาดจิ๋ว ผู้เขียนต้องตะลึงงันกับต้นสนไซส์ขนาดมหึมา สูงเกือบทะลุเมฆ มันดูอลังการเหมือนต้นไม้ ในยุคโลกล้านปีก่อน ลำต้นตรงเด่นสง่ามีขึ้นอยู่สองฝากถนนสายแคบที่ตัดผ่ากลางใจเมือง (อะแมสซิ่ง…อีกแล้ว)

ยังมีแผงผลไม้ที่ดูละลานตาเพราะเต็มไปด้วยผลหมากรากไม้ที่มีสีสันคัลเลอร์ฟูลน่าง้ำมาก อาทิ มะม่วงพื้นถิ่น สีสดจี้ดเหมือนกับสีของขนนกมาควอร์ กองอโวคโดสูงเท่าภูเขาลุกย่อมๆ ที่สำคัญทุกผล ผิววาววับ อย่างกับถูกเคลือบแว๊กซ์เอาไว้ ยังมีลูกตะขบป่าสีแดงแจ้ดอยู่ในตะกร้าหวาย คนขายหยิบให้ชิม แล้วแทบลมใส่เพราะกลิ่น ห้อมหอม รส ก็หวานเฉียบดั่งผลไม้ทิพย์ ยังมีกล้วยอีกหลากชนิดที่พ่อค้าจะห้อยขายกันเป็นเครือๆ ถ้าจะซื้อก็จะปันให้ ้ มีทั้งกล้วยนาค กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม


อยู่ศรีลังกามาหลายวันแล้วรู้สึกอิ่มเอมกับรสชาติผลไม้เมืองนี้มาก อาทิ มะละกอ กล้วย แตงโม และ สัปปะรด ขอให้คะแนนความอร่อยสิบเต็มเพราะทานทีไรจะทำให้หวนนึกถึง รสชาติ ผลไม้ ที่ได้เคยทานในสมัยตอนยังเป็นเบบี๋ คือ รสเป็นธรรมชาติมาก หวานจาง ไม่หวานจ๋อย(จนเลี่ยน) และสีก็ไม่ผิดเพี้ยนจากความจริงจนน่าระแวง เหมือนผลไมในท้องตลาดบ้านเราในยุคปัจจุบัน ที่มักชอบใส่สาร สาดปุ๋ย แล้วยังฉีดสี แถมตัดต่อพันธุกรรมอีก(เฮ้อ… เซ็งเป็ด)

ถ้ามาซีลอน ท่านไม่ควรพลาดที่จะต้องสั่งผลไม้หรือน้ำผลไม้สดปั่น ผู้เขียนขอการันตีว่าจะหลงใหลจน หัวปักหัวปำเพราะเขาจะไม่ใส่น้ำเชื่อมลงไปสสักหยด


ขอพูดถึงผู้คนของที่นี่เขาช่างขยันยิ้ม แม้สีผิวจะไม่ผ่องแต่น้ำใจงามล้นมาก ช่วงเย็นๆหลังงานเลิกแบบนี้ กลาง ตลาดเดินหลีกกันไม่พ้นเลยทีเดียว

ยังมีสิ่งก่อสร้างกลางใจเมืองที่สะดุดตาก็คือ ที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษจ๋าเลย ทุกๆ สถานที่จะมีแปลงดอกไม้น้อย-ใหญ่ ปลูกประดับไว้เสมอ และต้องตาลุกวาวเพราะดอกไม้บางชนิดเหมือนกับดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ในแถบยุโรป เช่น ดอกป๊อปปี้ ดอกลิลี่ ดอกกุหลาบบ้านและกุหลาบป่ากอใหญ่บึ้มๆ กำลังสาดสีส่งกลิ่นหอมหวนไปทั่วอาณาบริเวณนี่ยังไม่รวมไม้ใบอีกนานาพันธ์ที่ขึ้นอยู่ดารดาษอยู้บนเนินเขาชวนให้เพลิดเพลินรื่นรมย์สุดๆ จนอยากจะยืดเวลาออกไป อีกครึ่งวัน นี่ยังไม่ได้แวะแผงขายดอกไม้และแผงขายต้นไม้อีกนะถ้าขืนแวะมีหวังโดนทิ้งให้นอนกลางตลาดแน่ๆ



เมื่อย้อนสมัยไปในช่วงที่อังกฤษได้เข้ามาปกครองศรีลังกาเป็นเมืองขึ้น นูวารา เอลิยะ เป็น เมืองที่ชาวอังกฤษจะมาสร้างบ้านพักตากอากาศเพื่อใช้ในช่วงฤดูร้อน เพราะที่นี่มีทัศนียภาพสวยงามและมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ตึกรามบ้านช่องที่นี่นำแบบมาจากชาวอังกฤษทั้งนั้นและหลังจากศรีลังกาได้รับเอกราชแล้ว ชาวอังกฤษยังได้ทิ้งวัฒนธรรมการดื่มชาไว้ที่นี่อีกด้วย



สมัยก่อนเมืองนี้เคยเป็นแหล่งปลุกกาแฟซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศมาก่อน ต่อมาได้เกิดโรคระบาดกับต้นกาแฟจึงทำให้ชาวไร่กาแฟประสบปัญหาจนล้มละลายไปตามๆกัน หลังจากนั้นไม่นานก็มีชายชาวสก็อตต์แลนด์คนหนึ่งชื่อ นายเจมส์ เทเลอร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการปลูก “ชา” เดินทางมาจากทางตอนเหนือของอินเดีย แก เข้ามายังศรีลังกา และได้นำเมล็ดชา มาทดลองปลูกที่เมืองแคนดีและที่เมืองนูวารา เอลิยา ผลปรากฏว่าต้นชาของเขา ไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อรา ที่กำลังระบาดกับต้นกาแฟเลย นายเจมส์ จึงรีบขยายพันธ์ต้นชาแล้วนำไปปลูกทดแทนต้นกาแฟ ที่ได้ถูกทำลายไป ต้นชาก็เจริญเติบโตไวซะด้วย จนทำใหได้ผลผลิตที่ดีมาก เขาจึงได้ตั้งโรงบ่มชาขึ้นมาและก็ผลิตใบชาออกขายสู่ท้องตลาดจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จึงทำให้ชาวศรีลังกาเริ่มหันมาทำกิจการปลูกชาและโรงบ่มชากันมากขึ้น แล้วธุรกิจชาก็เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ จนชาซีลอนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและถูกยอมรับไปทั่วโลก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล ปัจจุบันโรงงานชาทุกโรงยังอยู่ในความดูแลของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด นายเจมส์ เทเลอร์ จึงได้รับการยกย่องจากคนศรีลังกาว่า ….เป็นวีรบุรุษผู้บุกเบิกการปลูกชาอย่างสมเกียรติ์



ปัจจุบันเมืองนูวารา เอลิยะ เป็นแหล่งปลูกชาส่งออกและมีธุรกิจโรงผลิตชายิ่งใหญ่และมากที่สุดในประเทศ โลกของ “ชา” ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้เพราะชายังมีตำนาน ที่น่าสืบค้นอีกมากมายและยังมีชาซีลอนวิเศษอีกหลายแบบที่ชวนให้ไปลิ้มลอง  



นูวารา อิริยะ จึงเป็นเมืองที่ไม่เคยจางหายไปจากกลิ่นหอมของดอกไม้และใบชา


เรื่องและภาพ จักรพงษ์ วรรณชนะ














นิตยสาร Health &Cuisine ปีที่ 9 No.106 พ.ย 52



How to go… Sri Lanka

วีซ่าและเอกสาร : การพักอยู่ในเขตท่องเที่ยวของศรีลังกาในระยะเวลาไม่เกิน 30 วันไม่จำเป็นต้องใช้วีซ่าหรือ ใบอนุญาติอื่นๆ

การเดินทาง : Srilankan Airlines :Book online at http://www.srilanka.aero/

การแต่งกาย : เสื้อผ้าฝ้ายหรือลินิน เพราะอากาศร้อนชื้นตลอด ฝนมักตกตลอดทั้งปี
เมืองนูวารา อาริยะ อากาศเย็นสบายตลอดทั้งวันหรืออาจมีฝนพรำๆ เป็นช่วงๆ ช่วงค่ำอุณหภูมิจะลดต่ำลงมาก ควรเตรียมเสื้อสเว็ตเตอร์หรือผ้าคลุมไหล่ติดกายไว้ด้วยเสมอ

Hotel : The Tea Factory Hotel Kandapola ,Nuwara Eliya ,Sri Lanka

www.aitkenspenceholidays.com

ช่วงเวลาเหมาะสม: สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

อาหาร: ชาและอาหารพื้นเมืองอร่อยสุดๆ (คนศรีลังกาไม่รับประทานหมู)

1 ความคิดเห็น:

  1. อ่า. หามาตั้งนานว่าเม้นท์ตรงไหน เจอแล้วครับ

    อย่างแรกนะครับ เวปคุณต้นสวยมากมากมาก บทความที่เขียรก็อ่านสนุกได้ความรู้ในมุมมองที่แตกต่าง โดยเฉพาะในรายละเอียดที่คนทั่วไปอาจมองข้าม ไปเที่ยวร่าเริงเราอาจมองข้ามสิ่งเล็กน้อยรายทาง ทำให้อดชื่นชมความงามเล็กๆที่ประกอบกันเป็นประสบการณ์ที่เฉพาะสวยงามร่าประทับใจ แถมคุณต้นหาข้อมูลแน่นนะครับ แต่เอามาสอดแทรกแบบนุ่มนวล ชอบครับ อ่านแล้วอยากเที่ยว
    เหวินครับ

    ตอบลบ