ไม่รู้ว่าโชคชะตาวาสนาหรือพรหมลิขิตที่ทำให้ชีวิตนี้ช่างผูกพันกับราชอาณาจักรริมเมฆบนเทือกหิมาลัยแห่งนี้ได้อย่างแน่นขนัดถึงเพียงนี้
โอกาสพิเศษได้หวนกลับมาอีกครั้งด้วยความเมตตาของ "อัมเป็ก" ("อัม" เป็นภาษาภูฏานมาจากคำว่า Amala หมายถึง แม่) ซึ่งเป็นคุณแม่สุดเลิฟของน้องๆ ได้ให้โอกาสน้องทั้งสอง(ผู้เขียนกับคุณโป้ง) ได้ร่วมทริปพิเศษนี้ไปด้วยความพิเศษนี้ได้เกิดขึ้นในช่วงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์รัชกาลที่ 5 และพระราชพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของราชวงศ์วังชุก (Coronation and Centenary Celebrations) ดูราวกับว่าไม่แพ้ความพิเศษในครั้งที่ผ่านมาเมื่อ 13 ปีกว่ามาแล้ว
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระราชชนนี (Grand Queen Mother of Bhutan หรือสมเด็จย่าของกษัตริย์พระองค์ใหม่) ที่ทรงพระราชทานความเมตตากับพวกเราเสมอมา ภาพประวัติศาสตร์และเรื่องราวของดินแดนแห่งนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจในทุกฝีก้าว ทุกๆองศาที่กวาดสายตามอง ได้ถูกบันทึกไว้ด้วยความทรงจำที่วิเศษที่สุด ในโอกาศพิเศษนี้ ผู้เขียนขอขยายภาพให้เห็นชัดและแจ่มแจ้งได้มากยิ่งขึ้น ว่าแล้ว..... ก็ตามกันมาเลยครับ
ผู้เขียนมาในฐานะหนึ่งในทีมงานจากโรงแรมปา์คนายเลิศที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของงานประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของภูฏานในครั้งนี้รู้สึกภาคภูิมิใจ อิ่มใจ และทำด้วยใจล้วนๆ สิ่งที่ต้องตระเตรียมมาอย่างเต็มปรี่ก็คือเตรียม "แรง" และ "เสื้อผ้าชุดหนาสำหรับกันความหนาวเยือก" เพียงเท่านั้น คงต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบก่อนว่าการมาครั้งนี้มา "ทำงาน" ไม่ได้มา "ท่องเที่ยว" (แต่ต้องถูกเขียนเรื่องท่องเที่ยว) หน้าที่หลักๆ ของผมก็คือ เป็นช่างภาพสมัครเล่นที่ต้องเก็บภาพเบื้องหน้า และเบื้องหลังทั้งหมด อีกทั้งยังต้องเป็นมือขวาช่วยทีมดอกไม้ จัดดอกไม้ในมณฑลพระราชพิธีในสถาน ที่สำคัญต่างๆด้วย เรามาถึงภูฏานกันตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย 2551 (ซึ่งงานพระราชพิธีจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ วันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2551) โดยสายการบินดรุคแอร์ ไฟล์ทพิเศษเหมาลำบินตรงลงเมืองท่าพาโร (Paro)
ช่วงก่อนถึงสนามบินกัปตันโฉบให้ผู้โดยสารได้ชมยอดภูหิมาลัยหรือฝรั่งเรียกว่าเอเวอเรสต์ บ้านเราเรียกยอดเขาพระสุเมรุนั่นล่ะครับ ผู้โดยสารทั้งลำต่างตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจกันใหญ่ เพราะท้องฟ้าก็กระจ่างนิ้งเป็นใจ จึงสามารถมองเห็นหิมะขาวโพลนบนยอดหิมาลัยได้อย่างแจ่มตางดงาม ทริปนี้ได้มีข้าวของต่างๆ ที่ทางโรงแรมต้องเป็นผู้ตระเตรียมมาเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีอย่าง"เพี๊ยบ" ก็ประมาณไม่ต่ำกว่าห้าสิบถึงหกสิบกล่องขนาดยักษ์ๆ!!! (นี่ยังไม่ได้รวมที่ทะยอยส่งมาก่อนล่วงหน้าแล้วและกำลังจะตามมาอีกในสองสามวันอันใกล้อีกอั๊ก)
อ้อ....นี่ยังไม่นับรวมสัมภารกและสัมภาระส่วนตัวที่ทีมงานต่างขนกันมาอย่างอื้ออึงเพราะได้โดนขู่มาว่าอากาศช่วงนี้หนาวเยือกสุดขั้ว !
![]() |
ถนนสองข้างทางถูกประดับไว้ด้วยธง 5 สี |
การได้กลับมาภูฏานอีกครั้ง สังเกตุได้อย่างชัดเจนเลยว่าภูฏานเปลี่ยนแปลงไปมากมายเหลือเกินแค่อาคารท่าอากาศยานก็ดูโอ่โถงขึ้นมากๆ จำได้แม่นว่าในสมัยก่อน (เมื่อราวสิบสามปีมาแล้ว) เป็นเพียงอาคารชั้นเดียวเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมขนาดจิ๋วตั้งอยู่บนพื้นแค่นั้น แต่ก็น่าชื่นใจที่บ้านเมืองของเขายังคงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไว้ได้อย่างดีและไม่เสื่อมคลาย
ความประทับใจแรกคืออากาศที่สดชื่น หายใจเข้าไปแล้วรื่นชื่นปอดยิ่งนัก ฟ้าก็กระจ่างเป็นสีคราม ความเย็นของอากาศช่วงนี้ (ก่อนเที่ยง) เพียงใส่แค่สเว็ตเตอร์ตัวเดียวก็เอาอยู่ แต่แดดนั้นช่างจัดจ้าล่อให้ฝ้าขึ้นได้มากเหลือเกิน คณะเราได้รับการต้อนรับจากตัวแทนคณะรัฐบาลและปิยมิตร(เก่า)ชาวภูฏาน ที่พร้อมใจกันส่งยิ้มให้เห็นไรฟันที่มีแต่คราบน้ำหมากสีแดงเข้มเกาะกรังอยู่ทุกซีก(ที่นี่เขายังกินหมากกันอยู่) เมื่อตรวจเอกสารเสร็จปั๊บ รถตู้ก็ได้พุ่งหัวพรวดออกจากสนามบินทันที ผมไม่รีรอที่จะเปิดหน้าต่างออกเพื่อรับอากาศที่บริสุทธิ์แห่งหนึ่งในโลก
ความประทับใจแรกคืออากาศที่สดชื่น หายใจเข้าไปแล้วรื่นชื่นปอดยิ่งนัก ฟ้าก็กระจ่างเป็นสีคราม ความเย็นของอากาศช่วงนี้ (ก่อนเที่ยง) เพียงใส่แค่สเว็ตเตอร์ตัวเดียวก็เอาอยู่ แต่แดดนั้นช่างจัดจ้าล่อให้ฝ้าขึ้นได้มากเหลือเกิน คณะเราได้รับการต้อนรับจากตัวแทนคณะรัฐบาลและปิยมิตร(เก่า)ชาวภูฏาน ที่พร้อมใจกันส่งยิ้มให้เห็นไรฟันที่มีแต่คราบน้ำหมากสีแดงเข้มเกาะกรังอยู่ทุกซีก(ที่นี่เขายังกินหมากกันอยู่) เมื่อตรวจเอกสารเสร็จปั๊บ รถตู้ก็ได้พุ่งหัวพรวดออกจากสนามบินทันที ผมไม่รีรอที่จะเปิดหน้าต่างออกเพื่อรับอากาศที่บริสุทธิ์แห่งหนึ่งในโลก
ภาพบรรยากาศใหม่ๆเริ่มปรากฏ สองข้างทางได้ถูกประดับประดาไปด้วยธงราว 5 สี 5 ชาย อันได้แก่ สีน้ำเงิน สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีขาว สีทั้งห้าใช้แสดงราชฐานะกษัตริย์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากธาตุทั้งห้า หรือพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ กำลังโบกสะบัดพลัดพลิ้วไปตามกระแสลม เสียงดังพรึ๊บพรั๊บๆราวกำลังปรบมือต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งบอกให้เราทราบว่า ณ ดินแดนแห่งนี้กำลังจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ที่ซุ้มประตูทางเข้าเมืองพาโรกำลังถูกตกแต่งแต้มเติมสีสันดูสดใสและยังประดับผ้าแพรพริ้วสีเหลืองสดลายดอกไม้ไว้อย่างงดงามแตะตา
![]() |
พาโรซอง งดงาม จับตา |
รถมุ่งหน้าโฉบให้เราได้เห็นวิวและบ้านเรือนในตัวเมืองหลวงเก่าพาโรเล็กน้อย เบื้องหน้าลิบๆคือ พาโรซอง (Paro Dzong) ซองหรือมหาปราการาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของส่วนราชการและองค์การบริหารสงฆ์และมีวัดอยู่ในนั้นด้วยซองที่นี่สูงตระหง่านและใหญ่ที่สุดในเมืองนี้ ที่สำคัญยังคงความงดงามจับตาทำให้หวนนึกถึงภาพเก่าๆ ที่ได้เคยมาร่วมงานบุญประจำปีหรือเทศกาลทางศาสนา พาโร (Paro Festival) อันตระการตาเมื่อหลายปีมาแล้ว ซึ่งปีนั้นทางวัดได้นำทงเดรล (Thongdrel) หรือผ้าปักลายภาพผู้นำทางศาสนากูรูริมโปเช (Guru Rimpoche) ซึ่งเป็นวัตถุมงคลที่ชาวภูฏานสักการะบูชาเช่นเดียวกับพระพุทธรูปนำออกมาแขวนประดับไว้บนผืนผนังขนาดมโหฬารของมหาวิหารเพื่อให้ประชาชนได้มาสักการะผืนผ้าใหญ่ขนาดเกือบเท่าตึก 10 คูหาดังกล่าว เป็นหัวใจของงานเทศกาล และยังคงเป็นภาพที่งดงามติดตาที่ยากจะลบเลือน
![]() |
ทงเดล (Thongdrel) หรือผ้าปักลายภาพผู้นำทางศาสนา |
รถเลาะเรียบไปตามกำแพงเตี้ยๆ ของพระราชวัง อูเก็น เป็ลรี (The Ugenpelri Royal Palace) หนึ่งในพระราชวังอันงดงามที่สุดในดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้และครั้งหนึ่งในอดีตคณะของผมครั้งนั้นได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเก วังชุก รัชกาลที่ 4 ได้มีพระบรมราชานุญาตให้คณะเรามาพักในพระราชวังแห่งนี้
![]() |
พระราชวัง อูเก็น เป็ลรี |
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนรอบบริเวณก็คือถนนหนทางกว้างขวางขึ้นมาก บ้านเรือนกำลังขยับขยายออกไปไกลจนถึงตีนเขาลูกใหญ่แล้วและเชื่อว่ากำลังแน่นหนามากขึ้นในวันข้างหน้าอันใกล้ ผมถอนหายใจเฮือกใหญ่ แต่ก็เริ่มชื่นใจขึ้นมาหน่อยเพราะสายตาได้ปะทะกับเพื่อนเก่าก็คือกองพริกสดสีแดงแจ๋ที่นอนอาบแดดกันอยู่บนหลังคาสังกะสี
หลังคาบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว แต่เดิมเป็นแผ่นไม้เรียงซ้อนกันหรือไม่ก็แผ่นสังกะสีสีเหลืองอ๋อย ตอนนี้ส่วนมากได้เปลี่ยนเป็นสังกะสีสีเขียว บ้านบางหลังยังคงใช้หินแม่น้ำสีเทามนๆ ทับกันลมปลิวอยู่เหมือนสมัยนั้น เส้นทางจากสนามบินได้ตัดเป็นถนนใหญ่ฟรีเวย์สองช่องทาง ซึ่งทำให้รถสามารถสวนทางกันได้(แล้ว) ในสมัยนั้นเวลารถจะสวนทางกันคันหนึ่งจะต้องหลบเข้าไหล่ทางอันสุดแคบจนแทบจะตกเหวแล้วจึงให้อีกคันเบียดสวนกันขึ้นไปได้ ถนนเส้นใหม่สายนี้ใช้เวลาเดินทางสู่เมืองหลวงทิพู(Thimpu) เพียง 1 ชั่วโมงกว่าๆเท่านั้น แต่ก่อนด้วยระยะทาง 50-60 กิโลเมตรจะต้องใช้เวลาเดินทางถึง 3 ชั่วโมงกว่าเลยทีเดียว
แม้หนทางจะคดเคี้ยวลดน้อยลงไปจิ้ดนึง แต่รถก็ยังคงต้องวิ่งเลาะเลียบแม่น้ำไปตามขอบผาซึ่งเป็นหุบเหวอันน่ากลัวและน่าเวียนหัว ใครมาครั้งแรกต้องนั่งเสียวใส้มวนท้องไปธรรมดาแต่ผมอารมณ์เหมือนกับวันวานเด๊ะ ป่าสนบนเขาสูงช่วงนี้จะไม่ค่อยเขียวสดฉ่ำเท่าในช่วงฤดูมรสุม แต่แสงแดดกล้าได้ทาบทาให้เห็นทิวทัศน์ บ้านเรือน วัด และสะพานข้ามแม่น้ำอันมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมงดงามจับตา สิ่งที่ดึงดูดสายตาไปตลอดทางก็คือ ต้นป๊อปป้า (Poppa)
ต้นป๊อปป้า (Poppa) สูงเพรียวใบสีเขียวเข้มของมันบางส่วนกำลังเริ่มทะยอยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมะนาวเลมอนและตามหน้าผา เชิงผาและกลางทุ่งร้างจะดารดาษไปด้วยทุ่งดอกไม้สีฟ้าที่สะท้อนแสงแดดจนลอยเด่นขึ้นมาแบบน่าฉงนเลยทีเดียว
ต้นป๊อปป้า (Poppa) สูงเพรียวใบสีเขียวเข้มของมันบางส่วนกำลังเริ่มทะยอยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมะนาวเลมอนและตามหน้าผา เชิงผาและกลางทุ่งร้างจะดารดาษไปด้วยทุ่งดอกไม้สีฟ้าที่สะท้อนแสงแดดจนลอยเด่นขึ้นมาแบบน่าฉงนเลยทีเดียว
เส้นทางบางช่วงเป็นทุ่งนาว่างเปล่าและนาขั้นบันได แม้จะดูแล้งโล้นแต่ภาพความเป็นชนบทช่างแจ่มชัด เราจะได้เห็นชาวบ้านในชุดประจำชาติกำลังต้อนฝูงวัวหรือไม่ก็กำลังง่วนอยู่กับการปรับพรวนแปลงผักหรือทีี่คันนา ช่างเป็นภาพที่น่าประทับใจ รถขับผ่านแผงขายแอปเบิ้ลริมทางมาแล้วหลายแผง ผมก็ชะเง้อจนคอแทบเคล็ดและขอบอกว่านั้นคือจุด ที่น่าจะหยุดแวะเป็นที่สุด!! จะมีใครจะรู้บ้างมั๊ย...น๊า?....ว่า "แอปเปิ้ล"ภูฐานลูกมอมแมมผิวกระดำกระด่างที่กองพะเนินกันอยู่ในตระกร้านั่นละ เป็นดั่งผลไม้ทิพย์ที่เทวดาประทานลงมาให้ดินแดนแห่งนี้ เพราะมีรสชาติหอมหวานกรอบล้ำเลิศสุดๆ ที่สำคัญยังไร้สารตกค้างร้อยเปอร์เซ็นต์ซะด้วย
![]() |
ผลไม้ทิพย์ |
บนสันเขาสูงหลายภู ช่วงที่เป็นช่องเขาจะได้เห็นเจ้าหน้าที่กำลังติดธงมนตราสีขาวที่เขียนอักขระภาษาธิเบต ซึ่งเป็นมนต์อุทิศให้ผู้ตายและให้เทวดาอารักษ์ตั้งแนวเป็นแถว ช่วงนี้สองข้างทางยังจะเห็นกลุ่มแรงงานชาวอินเดียมากมายกำลังโหมเรงปรับพื้นผิวถนนที่ชำรุดและบริเวณไหล่ทางจัดแต่งภูมิทัศน์ให้ดูสวยงามขึ้นเพื่อเป็นการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่กำลังเริ่มทะยอยเดินทางมา ก่อนเข้าสู่เมืองหลวงจะมี บริเวณจุดตรวจตั้งด่านตรวจตรารถทุกคันอย่างเข้มงวดมากทีเดียวพอรถลอดผ่านซุ้มประตูเข้าสู่ตัวเมืองหลวงที่มีภูเขาสูงอยู่ล้อมอยู่
รอบด้านถนนได้ขยายเป็นถนนเรียบนิ้งถึงสี่เลน บริเวณเกาะกลางถนนตลอดทั้งสายช่วงกลางเสาไฟทุกต้นได้ถูกประดับด้วยรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่สลับไปกับธงสัญญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชภิเษกและธงสัญญลักษณ์การเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีอันมีสีสันเด่นพราว
ตามทางแยกหรือบริเวณวงเวียนมีการตั้งซุ้มประดับภาพพระฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยดอกไม้สวยสดบานสะพรั่ง ช่วงนี้ภูฏานย่างเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ภายใต้ดวงอาทิตยที่เจิดจรัส์จะไร้เมฆบดบัง ท้องฟ้าจะเป็นสีฟ้าครามสดสวยกระจ่างมาก แม่น้ำสายแคบๆยังคงไหลเชี่ยวและเร็วรี่ แนวต้นหลิวริมฝั่งแม่น้ำยังคงระบัดใบสีเขียวสดเอาไว้ กิ่งใบที่ห้อยย้อยลงเหนือสายน้ำถูกลมระปลิวพริ้ว ช่างเป็นภาพที่น่ารื่นรมย์และทำให้เมืองนี้ยังคงดูเหมือนเมืองลับแลอยู่
ตามทางแยกหรือบริเวณวงเวียนมีการตั้งซุ้มประดับภาพพระฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยดอกไม้สวยสดบานสะพรั่ง ช่วงนี้ภูฏานย่างเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ภายใต้ดวงอาทิตยที่เจิดจรัส์จะไร้เมฆบดบัง ท้องฟ้าจะเป็นสีฟ้าครามสดสวยกระจ่างมาก แม่น้ำสายแคบๆยังคงไหลเชี่ยวและเร็วรี่ แนวต้นหลิวริมฝั่งแม่น้ำยังคงระบัดใบสีเขียวสดเอาไว้ กิ่งใบที่ห้อยย้อยลงเหนือสายน้ำถูกลมระปลิวพริ้ว ช่างเป็นภาพที่น่ารื่นรมย์และทำให้เมืองนี้ยังคงดูเหมือนเมืองลับแลอยู่
![]() |
รูปถนนสายเก่าเมื่อ 13 ปีที่แล้ว |
ความเปลี่ยนแปลงของเมืองทิมพูทำให้ใจต้องหายวาบเพราะตึกคอนกรีต ตึกแถวใหม่ๆ และอาคารของโรงแรมสุดหรูแบบลักชัวร์รี ผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด สมัยก่อนบนถนนสายนี้เป็นเพียงถนนลูกรังสายแคบๆ เดินทีฝุ่นคละคลุ้งไปหมด มีเพียงร้านขายของชำที่เป็นเรือนไม้สวยมากซึ่งสูงไม่เกินสองชั้นเรียงรายอยู่สองฟากทาง พอตะวันลับฟ้้าไปแล้วจะเงียบสงัดมาก แต่เดี๋ยวนีดูวุ่นวายและจอแจสุดๆ
สถาปัตยกรรมที่เด่นที่สุดของเมือง คือ องค์พระสถูปหรือโชร์เต็น (Chorten) อันเป็นที่เก็บสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีพระบรมอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง 3 รัชกาลของภูฏานอยู่ องค์สถูปทาสีขาวงามผุดผ่องจะเด่นสง่าที่สุด ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและคณะของเรามีโปรแกรมที่จะต้องไปสักการะขอพรให้งานสำเร็จลุลวงด้วย แต่ตอนนี้องค์พระสถูปได้ถูกโรงแรมชื่อก้องครองตำแหน่งความสูงไปซะแล้ว รถลาก็วิ่งสวนกันขวักไขว่มากขึ้นทวีคูณ เฮ้อ!..... ทุกสรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปจริง !! ทางรัฐบาลได้จัดที่พักให้คณะเราอยู่ที่โรงแรมแห่งใหม่พึ่งสร้างเสร็จเหมือนพึ่งแกะกล่อง ชัยภูมิตั้งอยู่บนเนินเขาสูงเด่น ทำเลช่างดีทีเดียวเพราะอยู่ย่านกลางใจเมืองและทุกห้องสามารถเห็นวิวสวยได้ทั่วทั้งเมืองอีกด้วย
พนักงานโรงแรมหน้าขาวผ่อง นำเครื่องว่างอย่างข้าวเม่าแห้ง ข้าวสาลีแห้ง น้ำชาออกมาต้อนรับ(ตามประเพณี) ผมเคยได้รับประทานข้าวเม่าแห้ง ข้าวตอกแห้งแบบนี้มาก่อน สมัยตอนที่ไปเมืองต่างจังหวัดของภูฏานทุกๆที่ ทุกๆเมือง แม้แต่ในวัดที่ซอง (Dzong) เครื่องว่างแบบนี้มีเรื่องน่าจดจำก็คือ ตอนนั้นเครื่องว่างเป็นแบบรวมมิตร คือในชามเดียวจะมีทั้งข้าวโพดแห้ง ข้าวตอกแห้ง ข้าวเม่าแห้ง และข้าวสาลีแห้ง ปนรวมๆกันมา
![]() |
ของว่าง ข้าวตอกแห้ง ข้าวเม่าแห้ง และหมาก |
ด้วยความหิวและเขลาจึงคว้าหมับเข้าปาก เคี้ยวกร้วมๆ แล้วก็ต้องร้องจ๊าก! เพราะ มันแข็งราวกรวดหิน ฟันแทบจะโยกหมดปาก ซึ่งที่จริงแล้วคนบ้านเขาจะหยิบใส่ปากทีละน้อยๆ แล้วต้องอมไวให้มันนิ่มก่อน พอมันเริ่มนิ่มพองจึงเริ่มเคี้ยว ยิ่งถ้ารับประทานกับน้ำชาใส่เนยจามรีด้วย ขอบอกว่าอร่อยมัน เคี้ยวแสนเพลินทีเดียว ส่วนปิยมิตรที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสี่ห้าคนที่ต้องมาคอยดูแลพวกเราส่วนใหญ่ เป็นหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ ขอปลีกตัวออกไปตั้งวงกินหมากกัน เห็นนั่งเคี้ยวกันอย่างเอร็ดอร่อยราวกับเป็นหมากฝรั่ง ปากเปิกเป็นสีแดงเพลิงกันทีเดียวเชียว
ผมจึงอยากลองชิมดูบ้าง เขาจึงยื่นห่อกระดาษหนังสือพิมพ์แบบช้ำๆที่มีใบพลูสด (แบบพลูบ้านเราแต่ใบใหญ่บึ้มกว่ามากๆเพราะเป็นใบพลูมาจากอินเดียใบง้ามงาม) และมีผลหมากสดปลอกเปลือกฝานเป็นก้อนเล็กๆสีแดงเรื่อๆ ก่อนจะง้ำก็ต้องป้ายปูนขาวซะก่อน พวกเขาก็ใจดีเห็นเรางกๆเงิ่นๆ จึงจับห่อและผสมให้เสร็จสรรพ ได้ลองเคี้ยวดูรสชาติมันแสนเฟือนและออกเผ็ดซ่านำกลิ่นยังก็ตุ่ยๆ แต่พอเคี้ยวไปได้ไม่เกินห้านาที เกิดอาการ"เมาและมึน"ไปเลย รสชาติที่ออกฟาดลิ้นแต่เมื่อกลืนน้ำลายลงคอแล้วมันจะหวานหอมดีแฮ เหล่าปิยมิตรนั่งอมยิ้มแป้นหัวเราะคิกคักกันใหญ่ (คงคิดว่าเราไม่กล้ามั๊ง?) เขายังบอกเราว่าหมากนั้นช่างอร่อยเอร็ดและเคี้ยวเพลินช่วยแก้ง่วงดีนักแล แต่ผมขอบอกกับตัวเองว่า… ครั้งเดียวก็เกินพอ!
คณะของเราเมื่อมาถึงก็ต้องเริ่มลุยงานกันเลย โดยเราจะแบ่งกันเป็นทีมๆ ทีมหนึ่งต้องรีบไปตรวจดููความเรียบร้อยของสัมภาระที่ส่งมาอย่างด่วน ส่วนคณะผมมีคุณหมู คุณโป้ง ถูกเจ้าหน้าที่เชิญแยกไปนั่งรถอีกคันแล้วจะไปสมทบกันทีหลัง วันนั้นรถในเมืองเกิดเป้นอัมพาตติดจนไม่สามารถวิ่งได้ เพราะขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่กำลังเสด็จกลับมาจากการประกอบพระราชพิธีลับส่วนพระองค์ที่เมืองพูนาคา (Punakha) และกำลังจะเสด็จผ่านเส้นทางสายนั้นพอดี พาหนะทุกคันจึงต้องหยุดและจอดแอบริมข้างทาง สัญญานโทรศัพท์ได้ถูกตัดตั้งแต่พระองค์เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังแต่เช้า เพื่อความปลอดภัย ประชาชน นักเรียน ลูกเด็กเล็กแดงต่างรีบกุลีกุจอกันออกมารอรับเสด็จ ร้านรวงต่างๆ ก็จะตั้งโต๊ะถวายพระพรตามประเพณี โดยจะมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์ประดับพร้อมตั้งพานสวยใส่ผลไม้สด ดอกไม้สดและจุดธูปหอมไว้รออีกด้วย
ประชาชนแต่งตัวด้วยชุดประจำชาติกันเต็มยศเพื่อรอรับเสด็จเพราะได้ข่าวว่าพระองค์จะเสด็จเยี่ยมราษฎรด้วย บุรุษจะอยู่ในชุดโก๊ะ (Gho) อันสง่า แล้วยืนเรียงแถวโดยมีผ้ากับเน่ (Kabney) สีธรรชาติที่ทอจากไหม หรือเปลือกไหมเนื้อดีเฉวียงอยู่บนไหล่ แต่ละคนจะใช้อีกมือประคองผ้าเอาไว้เพื่อรอคอยทำความเคารพกษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของตน ส่วนสตรีจะนุ่งชุดคีรา(Kira) หรือผ้าทอมออันงดงามวิจิตร โดยใส่เสื้อแขนยาวหรือเตียโก (Tyoko)ไว้ข้างในก่อนจะสวมทับด้วยเสื้อแจ๊กเกตหรือ โทโก(Toego) ที่ตัดเย็บจากผ้าปังลิ้มหรือผ้าโบร์เคด(Brocade) ลวดลายสุดวิจิตรยามต้องแสงแดดมันจะสะท้อนเป็นเงาวาววับระยิบระยับราวกับดาวเคราะห์และที่ไหล่จะต้องพาดผ้าทอมือสีสดหรือราชู (Rachu)ไว้ด้วย
ชุดประจำชาติของชาวภูฏานช่างเข้ากับกาละเทศะในทุกๆโอกาสไม่ว่าคุณจะไปทำงาน ไปตลาด ไปงานเลี้ยง ไปโรงเรียน ไปวัด หรือไปทำไร่ทำนา ล้วนกลมกลืนกับบรรยากาศรอบตัว ซึ่งคนภูฏานเขายังคงเห็นดีเห็นงามและภูมิใจในชุดประจำชาติของพวกเขาอยู่เสมอ ส่วนเด็กๆในชุดประจำชาติขนาดจิ๋วในมือจะมีธงชาติกระดาษและธงสัญญลักษณ์ครบรอบ 100 ปี โบกสะบัดกันอยู่ตลอดเวลา ช่างเป็นภาพที่น่าประทับใจมาก เราทั้งสามจึงไม่ขอพลาดโอกาสพิเศษเช่นนี้ จึงออกไปยืนรอรับเสด็จร่วมกับพวกเขาด้วย ขณะที่รถพระที่นั่งขับผ่าน ซึ่งค่อยๆขับผ่านไปอย่างช้ามากๆ พระมหากษัตริย์ พระองค์ใหม่ทรงเปิดกระจกทักทายประชาชนไปพร้อมๆกับโบกพระหัตถ์ให้เพราะ พระองค์ท่านทรงโปรดให้ประชาชนได้เห็นพระบารมีอย่างใกล้ชิด
เมื่อรถพระที่นั่งกำลังผ่านหน้าเราทั้งสาม พวกเราได้ถวายความเคารพโดยการยกมือขึ้นพนมไหว้แบบไทย เมื่อพระองค์ท่านทรงเห็นได้ยกพระหัตถ์ขึ้นไหว้รับและทรงกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ" ผมรู้สึกขนลุกเลยทีเดียวที่พระองค์ทรงเมตตาและพระบารมีผุดผ่องมากในวันแรกที่มาถึงพวกเรานับว่าโชคดีมากๆ บางคนถึงกับมีใบหน้าที่อมยิ้มไปตลอดทั้งวัน ในช่วงวันก่อนจะถึงงานพระราชพิธี พวกเราแทบจะไม่มีเวลาได้หยุดพักกันเลยและเหนื่อยกันมากๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูุกตระเตรียมพร้อมไว้ก่อนและดูจะต้องเร่งรีบไปหมดด้วย
![]() |
Royal Babquet Hall |
เนื่องจากสถานที่จัดงานในหนึ่งวันนั้นมีหลายสถานที่ อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (ช่วงเช้าตรู่หนาวจัดแบบติดลบ กลางวันแดดร้อนกล้าตัวแทบไหม้ ตกค่ำอุุณภูมิจะลดฮวบเย็นเยียบจนจะไข้ขึ้น) ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่อัมเป๊กกำชับและเตือนไว้อยู่เสมอ ก็คือทุกคนต้องดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดีที่สุด ดังนั้น เครื่องนุ่ง ห่มจึง มีส่วนสำคัญมากและทุกคนมีกฏเหล็กจากอัมเป็กอีกว่า “ห้ามป่วย!!“ (อึ๋ย..!!) อัมเป็กจึงโดปพวกเราด้วยสารพัดวิธี อาทิเครื่องกันหนาว วิตามินซีและอาหารหวานอย่างชอกโกแลตแบบอื้ออึงทุกๆมื้อ ตลอดช่วงอาทิตย์แรกทุกคนต้องตื่นกันตั้งแต่ไก่ยังไม่ขันและกลับเข้าที่พักตอนที่ตะวันได้เช็กเอาต์ไปแล้ว
ศูนย์กลางการจัดเตรียมงานของเราอยู่ที่ Royal Banquet Hall อันโอ่อ่า ซึ่งที่นั่นเราจะมีห้องสำหรับเก็บข้าวของทุกอย่างมีครัวขนาดยักษ์ ห้องจัดเก็บของทุกอย่างและห้องเก็บ-จัดดอกไม้อันใหญ่มาก
ด้วยทุกคนมีงานล้นมือเลยไม่สามารถที่จะปลีกตัวออกไปไหนจะแวปเข้าเมืองเพื่อไปช้อปหรือเดินเล่นได้เลย แต่หลังจากงานพระราชพิธีสำเร็จลุล่วงไปแล้ว พวกเราจึงมีโอกาสไปสัมผัสผู้คน ได้เดินเล่นชิวๆ เดินชมตลาดและได้ช้อป (บ้าง) ซึ่งบรรยากาศบ้านเมืองช่วงนั้นยามราตรีน่าเดินมากๆ เพราะถนนทั้งสายสวยงามและถูกประดับประดาไปด้วยแสงไฟวิบ วั๊บๆ ราวกับช่วงเทศกาลคริสมาสในกรุงเทพฯฟ้าอมร ในทุกๆสถานที่ไม่เว้นร้านรวงต่างๆ ก็พร้อมกันตกแต่งหน้าร้านให้สวยงามและยังประดับพระบรมฉายาลักษณ์ และ ธงสัญญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ด้วยอย่างงดงาม
ช่วงเช้าตรู่ (อากาศเย็นเยือกจับจิต) สิ่งแรกที่ควรพึงกระทำที่สุดก็คือการได้ออกไปนวยนาดรับความเย็นอันสดชื่น แม้อุณหภูมิช่วงหกโมงเช้าบางวันเกือบติดลบ (ประ มาณ 1 องศา) หรือบางวันแม้จะขยับขึ้นมาอีก 2-3 องศา แต่หลายคนคิดว่าการนอนคลุมโปงปิดมิดคือสิ่งที่น่ากระทำมากกว่า ที่ห้องของผมได้วิวสวยมากเพราะมองจากระเบียงนอกห้องออกมาก่อนที่พระอาทิตย์จะโผล่ขึ้นมาจากสันเขาจะได้เห็นละอองหมอกลอยเอื่อยๆปกคลุมไปทั่วทั้งเมือง แบล็กกกราวที่เป็นเทือกภูขนาดมหึมาซ้อนเหลื่อมไล่เฉดสีกันเป็นชั้นๆนั้นงดงามเหลือเกิน
แต่เมื่อดวงตะวันโผล่พ้นเหลี่ยมเขาขึ้นมาแล้วแสงแดดจะตัดสายหมอกออกไปอย่างรวดเร็ว แดดก็จะแจ๋ทันที จากนั้นน้ำค้างแข็งที่เกาะค้างอยู่บนหลังคาอาคารต่างๆ จะค่อยๆ เริ่มละลายตัวอย่างรวดเร็ว รามกับฝนตกในช่วงเช้าซึ่งเกือบทุกเช้าผมจะรีบตื่นและคว้ากล้องถ่ายรูปสวมเสื้อกันหนาวแบบกระหน่ำ ลงไปเดินลัลลาเล่นเพื่อชมบรร ยากาศและผู้คนในเมือง แต่ตอนเดินๆก็ต้องคอยหลบน้ำค้างที่ตกหนักมาก มันจะไหลหยดลงหัวราวกับฝนตกเลยทีเดียว เดินไปจะได้ยินเสียงดังเปาะแปะๆตลอดทาง
ตามเรือนไม้และบ้านเรือนบางส่วนริมถนนเส้นหลักที่ยังไม่ถูกแทนที่ด้วยอาคารใหม่บนบานประตูหน้าต่างหรือตามผนัง ช่างดึงดูดให้แวะและหยุดมองเพราะมีลวดลายและภาพเขียนงามๆ แม้สีจะหม่นจางขรึมขลังแต่สวยคลาสสิกมาก อีกทั้งการได้เดินลัดๆเลาะๆไปตามตรอก ตามซอกของตึกแคบๆ ซึ่งเต็มไปด้วยร้านขายผักและผลไม้สด ก็ช่างน่าตื่นตาตื่นใจมาก จะได้ยินเสียงคนขายจัดของโป้งเป้งๆ ได้ยินเสียงการต่อรองราคา มันมีความเคลื่อนไหวของผู้คนอยู่ตลอดเวลาใหเรา้หยุดชะงักมองได้เสมอ
ร้านขายของชำหรือร้านสะดวกซื้อที่มีขนาดจิ๋วที่สุดในโลก หน้าต่างจะเป็นบานไม้มันจะถูกยกปิดเอาไว้ พอจะเปิดร้่นเค้าก็ไขกุญแจออกและยกบานหน้าต่างออกมาพาดและพิงไว้บนพื้นหน้าร้าน คนขายก็ปีนเข้าไป(เพราะไม่มีประตู) จะเป็นสถานที่ที่แรกที่เปิดให้บริการก่อนใครเพื่อน เราจะได้เห็นผู้คนในชุดประจำชาติได้หยุดแวะที่ร้านขายของชำนี้ อยู่ตลอดเวลา เพื่อซื้อข้าวของกระจุกกระจิก อย่าง ขนม นมเนย หมากพลู และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ส่วนเด็ก ๆในชุดนักเรียนมักจะหยุดซ้ือขนมกรุบกริบติดไปหม่ำที่โรงเรียนด้วย
ยิ่งใกล้ช่วงจะถึงวันสำคัญของชาติแบบนี้ ชาวภูฏานจะตื่นกันเช้ากว่าปกติและจะมายืนรอด้านหน้าร้านชำก่อนเปิดเพื่อจะมาซื้อหรือล่าหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับพิเศษที่มีอยู่สองสามหัว ซึ่งเขาจะพิมพ์ข่าวงานพระราชพิธีและสกรู๊ปพิเศษของราชวงศ์ที่สำคัญทั้งคือทั้งปกนอก ปกในจะขึ้นภาพพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์พระองค์ใหม่พิมพ์สี่สี กระดาษอาร์ตมันสวยงามมากและถ้าหลังจากวันงานพระราชพิธีจบไปแล้ว ขอบอกว่าหนังสือพิมพ์ทุกๆเล่มในช่วงนี้ จะมีค่าควรเมืองซึ่งผมเองก็พลาดเลยสักฉบับเดียว
ชุดเด็กนักเรียนชายหญิงของที่นี่ก็เป็นชุดประจำชาติเช่นกัน เด็กๆจะนัดแนะกันและมายืนรอเพื่อนๆตามทางแยกหรือตามมุมถนนสายต่างๆ พอมารวมกันครบ พวกเขาก็จะเกาะกลุ่มกันเดินไปโรงเรียน (ซึ่งเป็นภาพที่น่ารักมาก) ถ้าสังเกตุให้ดีในมือข้างหนึ่งของพวกเขาทุกคนจะถือตะกร้าหวายบ้าง ถุงผ้าบ้าง หรือกระติกใส่ข้าวใบน้อยอยู่ด้วย ในนั้นจะเป็นอาหารที่ทำไปทานกลางวัน ส่วนคนเฒ่าคนแก่ก็จะพากันออกมานั่งรับแดดที่ระเบียงหน้าบ้านกับพวกหลานๆ ส่วนคนรุ่นหนุ่มสาวในชุดประจำชาติต่างซอยเท้ากันยิบเพื่อเร่งมุ่งหน้าไปทำงานเพราะรถประจำทางมีน้อยมาก การเดินจึงเร็วกว่า
ยังมีอีกหนึ่งสถานที่่ที่น่าไปทำตัวนัวเนียมากก็คือตลาดกลางแจ้ง เราจะได้เห็นชาวไร่ ชาวนา ทะยอยแบกเอาผักและผลไม้สดๆ แบบหน้าตาดีจากเรือกสวนไร่นาของเขาเอง ถูกเก็บมาใหม่ๆ ออกมาแผ่วางขายหรือมาส่งตามร้านขายปลีกต่างๆ โอกาสทองแบบนี้ ควรดิ่งเข้าไปเลือกคว้าผลแอปเปิ้ล ลูกฝรั่ง หรือถั่วฮาเซลนัท (Hazel nut) แบบแก่จัดๆ เพราะน่าหม่ำและมีราคาถูกมาก ตามพื้นถนนของมือง เมื่อแดดกล้ามากขึ้น จะเผยให้เห็นถึงร่อรอยของกองน้ำ หมากและกลิ่นของน้ำหมากคลุ้งอยู่ทั่วทางเท้า คนเมืองนี้ขยันป้วนน้ำหมากลงพื้นจริงๆ เพราะเขายังขาดหมากไม่ได้และยังติดหมากกันอยู่ตลอดเวลา
ถ้าได้ชะโงกเข้าไปมองที่แผงขายของชำขนาดจิ๋วทุกๆร้านจะมีหมากจัดเป็นคำๆ วางขายและเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่งด้วย ร้านค้าใหญ่ๆ ร้านขายของที่ระลึกช่วงนี้จะเปิดประมาณ 10 โมงเช้าและไปปิดเอาเกือบสามทุ่มเพราะแขกต่างชาติและคนบ้านเขาเองจะออกมาจับจ่ายกันมากมายขึ้น
ส่วนพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ผ้าและสถานที่ราชการบางแห่ง ถือเอาวันพิเศษช่วงนี้หยุดยาวเชียว (เสียดายเป็นที่สุดที่ไม่ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้า) ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่ได้รับการยกเว้นและห้ามปิดเด็ดขาดก็คือ "ที่ทำการไปรษณีย์" ถ้าใครมาภูุฏานแล้วไม่ได้แวะช้อปที่นี่ ขอบอกว่าคุณยังมาไม่ถึงภูฏาน เพราะชื่อเสียงของแสตมป์ภูฏานหรือศิลปะย่อส่วนนี้มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก เขาว่าแสตมป์ภูกานเป็นแสตมป์ที่มีความเป็นเลิศทางเทคนิคการผลิตและเป็นสินค้าออกอย่างหนึ่งด้วย
ช่วงโอกาศพิเศษแบบนี้ได้มีแสตมป์ที่ระลึกของงาน Coronation and Centenary Celebrations ออกมาให้นักสะสมนานาชาติน้ำลายย้อยกันเลยทีเดียว และกลายเป็นแสตมป์ที่แสวงหาได้ยากไปซะแล้ว เพราะได้มีพ่อค้าคนกลางมากว้านซื้อไปเกือบหมด แต่นับว่าโชคดีที่ผม(เส้นใหญ่)ได้ควานมาได้หนึ่งแผง... ฮ่า ฮ่า ไชโย้!!
ยังมีบริการพิเศษ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ช่วงนี้อีก คือ แสตมป์ภาพถ่่ายตัวเราเองโดยเจ้าหน้าที่เขาจะบริการถ่ายรูปให้เรากับแบกกราวน์สัญญลักษณ์งานเฉลิมฉลองเพื่อเก็บภาพความทรงจำเอาไว้แล้วภาพถ่ายตัวเรานั้นก็จะถูกปริ้นท์ออกมาเป็นแสตมป์ซึ่งเราสามารถใช้แสตมป์ดังกล่าวแปะส่งบนซองจดหมาย หรือบนโปสการ์ดเพื่อส่งหาคนทีเรารักและคิดถึง เชื่อว่างานนี้คนที่ได้รับจดหมายหรือโปสการ์ดคงจะต้องมีเฮ! แน่ๆ เห็นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนเข้ามาใช้บริการคิวยาวเลยและผมก็ไม่พลาด (อีกแล้ว)
โรงภาพยนต์คืออีกหนึ่งสถานที่ที่ถูกดึงดูดความสนใจเพราะมันเป็นเพียงโรงหนังโรงเดียวในประเทศนี้ที่สมถะมาก เป็นโรงติดพื้นไม่มีแนวพื้นสโลบของที่นั่งเหมือนดรงหนังบ้านเราเก้าอี้ก็วางเรียงยาวแบบง่ายๆ ยิ่งช่วงเย็นๆที่หน้าโรงหนังจะเต็มไปด้วยวัยรุ่นหนุ่มสาว คนรุ่นเดอะและไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุสงฆ์ก็สามารถเข้าชมภาพยนต์ได้ด้วย เมื่อประเทศถูกเปิดวัยรุ่นชายหญิงบางส่วนได้กลายร่างจากการใส่ชุดประจำชาติประจำวัน (โก๊ะและคีร่า) กลายเป็นชุดฮิบฮอบหรือนุ่งกางเกงยีนส์รัดเปี๊ยะไปซะแล้ว (ใส่อวดกันได้แถวนี)้ช่วงนี้มีหนังภูฏานลงโรงแนวรักโรแมนติกหลายเรื่องขึ้นบิลบอร์ดไว้ขนาดใหญ่หน้าโรงซะด้วย ส่วนเพลงประกอบภาพยนต์ก็กำลังฮิตฮอตและฮือฮามากๆ มันได้ถูกโหลดเข้าโทรศัพท์มือถือด้วย (โดยเฉพาะปิยมิตรชาวภูฏานของเราแทบทุกคนต้องใส่หูฟังแล้วร้องฮัมเพลงนี้กันท้างวัน)
.
ร้านขายของที่ระลึกที่นี่ส่วนใหญ่ก็ขายสินค้าเหมือนๆกันไปหมดแต่ที่รู้สึกประทับใจทุกครั้งเมื่อซื้อสินค้า แล้วยืนเพลินจ้องคนขายค่อยๆบรรจงห่อของขวัญให้เรา อย่างบรรจงมากด้วยกระดาษสาธรรมชาติเนื้อเหนียวนุ่มแล้วเขาก็จะผูกโบว์ให้ทุกชิ้นด้วยไหมพรม 3 สี ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของธงชาติภูฏาน (เหลือง ส้ม แดง)ท่านอย่าได้คิดเร่งรัดเวลาเขาเด็ดขาด ควรปล่อยให้เขาอ้อยอิ่งทำไปเรื่อยๆ เพราะเป็นภาพที่มองแล้วจำเริญสายตามากไม่รู้ว่าจะได้เห็นแบบนี้ที่ไหนอีกบ้างในโลกเบี้ยวๆ ใบนี้…หนอ
ส่วนร้านขายผ้าซึ่งขอบอกว่าคอผ้าไม่ควรพลาด!จริงๆ เพราะท่านสามารถขลุุกอยู่ในนั้นได้ทั้งวันที่ทิมพูนี่มีหลายร้าน แต่ร้านที่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าทอมือลายดั้งเดิมและมีผ้าโบร์เคดหรือปังล้ิมเนื้อดี(เกรดเอลิส)ขายมีอยู่ไม่กี่ร้าน ผ้าทอลายพื้นเมืองส่วนมากเดี๋ยวนี้ทอเครื่องทั้งนั้นแล้ว แต่พวกผ้าปังลิ้มหรือผ้าไหมจีนมักนำเข้ามาจากเมืองจีนและธิเบต เนื้อผ้าจะแน่นเนียน ลวดลายเตะตางดงามอลังการมีคู่สีสดเจ็บตัดกันฉึบฉับซึ่งมีให้เลือกแบบตาลายและอักโขเลยทีเดียว!
ส่วนใครต้องการใส่ชุดประจำชาติทั้งแบบบุรุษหรือสตรี เดี๋ยวนี้เขามีแบบตัดสำเร็จรูปจำหน่ายด้วยมีให้เลือกหลากไซส์หลากลายฝีมือประณีตด้วย แต่ถ้าท่านไม่ปลื้มกับเนื้อผ้าหรือลายผ้าในแบบสำเร็จรูปท่านก็สามารถเลือกซื้อผ้าใหม่ในพับได้แล้วสั่งตัดตามไซร์ได้ซึ่งอาจใช้้เวลาเพียงสามวันก็เสร็จ (ค่าแรงตกแค่หลักพันบาทต้นๆ )
ใครที่ชอบเครื่องประดับมาที่นี่ต้องตาดีหน่อยเพราะเดี๋ยวนี้มีทั้งของจริงปนของปลอมหรือของปลอมที่คละกันอยู่ถ้าอยากได้ของคุณภาพดีฝีมือเยี่ยมขอให้แวะไปที่ร้านจำหน่ายสินค้าของรัฐบาล หรือ Handicrafts Emporium ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองทิมพูซึ่งของส่วนใหญ่ถูกคัดสรรค์มาอย่างดีและมีคุณภาพเยี่ยมกว่า มาทิมพูแล้ว ขอให้ลองแวะไปชมสี่แยกไฟแดงซึ่งเป็นแยกไฟแดงแห่งเดียวในโลกที่ยังไม่ไม่สัญญานไฟจราจรเพราะยังคงให้ตำรวจจราจรโบกสัญญานมืออยู่ ภูฏานจึงเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ยังคงอนุรักษณ์วัฒนนธรรมงดงามแบบนี้เอาไว้ ซึ่งขอบอกว่า “อิ่มใจ”
ขอข้ามเรื่องชอปปิ้งก่อนไปคุยเรื่องความประทับใจที่บ้านเมืองเขานำเอาธรรมชาติเข้ามาผูกพันกับงานประเพณีและพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ที่ทำออกมาแล้วเป็นที่ประทับใจแก่แขกบ้านแขกเมืองเหลือเกิน ก็คือตามสถานที่สำคัญในมณฑลพิธีต่างๆ อย่างในสนามกีฬาแห่งชาติกลางแจ้งชางกลิมิทัง หรือ (Changlingmithang Stadium) เขาได้ใช้ใบสนจูนิเพอร์หรือสนสามใบโดยรูดเอาแต่ใบสดๆมาใช้โปรยลงไปบนพื้นสนามใบสนสีเขียวสด ชื่นดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ง่ายงาม คือ เพื่อกันฝุ่นเพราะช่วงหน้าแล้งฝุ่นจะเยอะและที่สำคัญใบสนมีสีสดดูแล้วสดชื่นอีกทั้งกลิ่นของใบสนยังหอมสะอาดอีกด้วย
ในส่วนของเต้นท์ที่รับรองแขกวีไอพีก่อนที่จะปูผืนพรมลงไปเขาจะนำใบสนมาโปรยไว้ก่อนจนหนาเพื่อกันพรมเปื้อนและยังทำให้นุ่มน่านั่งน่าเหยียบนับว่าป็นภูมิปัญญาอีกอย่างที่ล้ำเลิศจริงๆ ก่อนถึงวันพระราชพิธีที่สนามกีฬากลางแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ได้นำใบสนมาโปรยลงไปทั่วทั้งสนาม สนามเขียวปั๊ดราวกับปูพรมหญ้าสีเขียวใหม่ๆ ท่านลองคิดดูแล้วกัน... ว่าสนามขนาดมโหฬารขนาดนั้นจะต้องรูดใบสนลงมาสักกี่เขา
ยังมีเรื่องประทับใจที่ต้องพูดถึงอีกเพราะทั้งสนุกและโหดมันฮาจริงๆ คือ ตอนที่ผมขึ้นเขาไปตัดดอกไม้ ใบไม้มาเพื่อมาเสริมการจัดดอกไม้
เนื่องจากดอกไม้ที่ส่งมาจากเมืองไทยนั้นส่วนมากเป็นดอกกล้วยไม้ ซึ่งท่านผู้หญิงเลอศักดิื สมบัติศิริ ได้ให้ไอเดียกับทีมงานว่าสีสันของดอกกล้วยไม้ควรใช้สีที่เป็นสัญญลักษณ์ของธงชาติภูฏาน คือสีเหลือง สีส้มและสีแดง เราจึงได้ดอกกล้วยไม้สายพันธ์ุมอคคาร่าสามสีดังกล่าวมาจัดและยังมีส่วนหนึ่งที่เป็นดอกกล้วยไม้ที่ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ได้มอบมาเพิ่มเติมให้อีก ดังนั้นในห้องจัดดอกไม้ของเราจึงอัดแน่นไปด้วยดอกกล้วยไม้สามสีนี้ราวกับงานบุพผาชาติ แต่ในสถานที่สำคัญต่างๆ เราต้องจัดให้ฉีกแนวออกไปบ้าง โดยต้องผสมผสานกล้วยไม้ไทยกับใบไม้และดอกไม้พื้นถิ่นของบ้านเขาบ้างเราจึงต้องใช้ใบไม้ ดอกไม้พื้นถิ่นมาร่วมจัดแจมกันด้วย
ยังมีดอกไม้ ใบไม้บางส่วนที่ได้มาจากความเอื้อเฝื้อของคุณ รีเบคก้า (Rebecca Pradhar) ซึ่งท่านเป็นผู้ชำนาญทางด้านสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชวิตที่มีชื่อเสียงที่สุดในภูฏาน ท่านได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ช่วยจัดหาและตัดดอกไม้อันสุดพิเศษและใบไม้อันวิเศษสุุดจากทั่วเทือกหิมาลัยมาให้เราได้สร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย อาทิ ลูกกุหลาบป่าสีส้มคอรัลที่ตัดมาให้เป็นหอบใหญ่ๆ ถ้าใครได้เห็นแล้วต้องร้องกรี้ด! ยังมีเมล็ดแห้งของต้นไม้ชนิหนึ่ง ที่เรียกว่าซิลเวอร์ดอล่าร์ เห็นแล้วแทบลมใส่(เพราะเก๋มากๆ)ยังมีดอกผักขมป่าสีแดงเลือดหมูที่คุณป้ารีเบคก้า ท่านเล่นตัดมาทั้งต้นขนมาให้เป็นกระสอบนี่ยังไม่รวมใบไม้ ใบหญ้า๋อีกมากมายหลายชนิดนะ
งานนี้ราจำเป็นต้องใช้ใบไม้เยอะมากๆ เพราะบางสถานที่ใหญ่โอฬาร อย่างในพระบรมมหาราชวังทาชิโชซอง (Tashichho Dzong) ซึ่งพอจัดดอกไม้ลงไปเท่าไหร่ก็ดูจมหายไปหมดดูไมค่อย่อลังการพอ (คือดูไม่เด่นลอยขึ้นมา) ดังนั้นเราจึงต้องใช้ใบไม้มาเสริมมาเติมเพื่อให้ดูลงตัวขึ้น เวลานั้นทุกๆคนก็มีภาระกิจของตัวเองแน่นขนัดและต้องแข่งกับเวลาอีก ผมจึงขอโชว์สปิริตขอรับหน้าที่ออกไปตัดใบไม้มาเพิ่มให้ โดยขออาสาสมัครชาวภูฏานติดไปช่วยด้วย ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลรีบส่งสมุนมาให้ไปกับผมถึงสามนายพร้อมสารถอีกหนึ่งคนกับรถหลวงอีกหนึ่งคัน วันนั้นจำได้ว่าพอขึ้นรถได้พี่สารถีแกก็พาฮ้อขึ้นเขาไปเลย นั่งจนหัวสั่นหัวคลอนลัดเลาะเลี้ยวลัดห้าร้อยสี่สิบแปดโค้งไต่ๆขึ้นไปประมาณเกือบยี่สิบเขา ผ่านไปสักพักใหญ่ๆ ผมก็มานึกเอะใจว่าข้างทางที่ผ่านมามีใบไม้ ดอกไม้สวยๆทั้งนั้นเขาน่าจะจอดให้เราลงตัดได้บ้าง
ด้วยความที่เข้าใจผิดกันและเข้าใจกันไปคนละอย่าง คือเราเข้าใจว่าเขาจะพาไปตัดในแหล่งที่สามารถตัดเอามาใช้ได้เพราะต้องใช้เยอะมาก ส่วนเขาดันเข้าใจว่าเราคงยังไม่โปรดใบไม้ ดอกไม้สักต้นตามข้างทางที่ผ่านๆมา เพราะเห็นนั่งยิ้มเพลินหรืออาจจะยังไม่โดนใจ (แกคิดของแกเอง)พี่แกก็เลยพาบึ่งตะบึงตะบันขึ้นเขาต่อไปอีกสิบห้าเขา พอถึงเขายอดสุดท้าย เราก็หมดสภาพเพราะเมารถแหง็กมีอาการร่อแร่แถมก่งก๊งไปหมด
ตอนนั้นดันมีฝนตกลงมาอีก หนาวก็หนาว เสื้อกันหนาว เสื้อกันฝนก็ไม่ได้เอาไปกันสักชิ้น ขณะนั้นพอเจอต้นอะไร กิ่งอะไร ได้ก็เริ่มปีน เริมถก เริ่มตัด เริ่มคว้ากันแล้ว ส่วนใบไม้ที่เก๋ๆ หรือใบสวยนิ้งอย่างสนชนิดต่างๆนั้นก็ไม่สามารถตัดได้เพราะมันขึ้นอยู่ตามเหว ไม่มีปัญญาลงไปตัดได้จริงๆ แต่คนของเขาก็จะพยายามปีนลงไปตัดให้ได้ แต่เราก็ห้ามไว้เพราะถ้าเกิดลื่นพลาดตกเหวซี้ม่องเท่งไปเดือดร้อนแน่ๆ
ทีมอาจหาญของเราจึงค่อยๆไต่เรืี่ยๆเรียบๆเลาะไปริม(เหว)บ้างก็แอบป่าย งานนี้เป็นลิงค่างกันเต็มตัว ทั้งเลอะและมอมแมมโก๊ะเก๊อะเปิดระเบิดเห็นความลับกันระเบ้อ !! (แต่ขอบอกว่า…สนุกสุดๆ)
เราเริ่มไล่ตัดเก็บใบไม้ ดอกไม้ลงจากเขามาเรื่อยๆ พอลงมาตีนเขาหน่อยมีพวกดอกไม้ป่าสีแจ๋นสวยๆ เพียบไปหมด มีใบเฟินสดเฟินแห้งบางใบใหญ่เท่ากระโปรงหน้ารถ (อึ้งกิมกี่) ส่วนเฟินเขียวที่เกาะเลี่ยๆ อยู่ตามผาเป็นเถาเป็นเครือสวยเยอะเยะไปหมด อีกทั้งไลเคน ฝอยลม งานนี้ถกลงมามากมาย ถ้าขืนให้อยู่ต่ออีกสัก 2 ชั่วโมง มีหวังหอบลงมาหมดเขา
เห็นทีว่าพอแล้วเพราะมันทั้งล้นและยื่นออกมานอกกระบะท้ายแล้ว เราจึงคลานกลับลงมาก็พลบค่ำไปแล้วกว่าจะหอบสังขารกลับลงมาถึงตีนเขาได้ก็สะบักสะบอมไปทั้งดอกไม้ ใบไม้และคน ทุกคนออกมายืนรอเพราะเป็นห่วงกันใหญ่ (นึกว่าเราตกเขาไปซะแล้ว) พอวันต่อๆมา ใบไม้ก็ไม่พอจัดอีก งานนี้จะเป็นใครไปได้นอกจากทีมเดิม ผมยังขันอาสาจะไปตัดใบไม้ให้อีกและได้ถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงท่านนึงว่า ช่วงเดือนนี้น่าจะมีผลบลูเบอร์รี่ป่า(Wide Bluebubery)บ้างนะ เขาจึงซักเรากลับว่า คุณรู้ได้อย่างไร ? เราจึงบอกว่าช่วงนี้บางปีสมเด็จย่ามีพระเมตตาพระราชทานตัดส่งมาไปให้ที่กรุงเทพฯเป็นลังๆและที่สำคัญยังแกล้งคุยทับเขาอีกว่าทาร์ตบูลเบอรี่ป่าจากห้องเครื่องสมเด็จย่านั้นอร่อยล้ำที่สุดในโลก (แกเลยนิ่งเงียบไปเลย)
เจ้าหน้าที่นายหนึ่งขันอาสาพาผมขึ้นไปตัดเอง เพราะเทือกเขาที่บูลเบอร์รี่ขึ้นอยู่มากอยู่ในเขตพระราชฐานของสมเด็จย่า เขาพาผมปีนเขาขึ้น-ลงจนน่องพลิกน่องโป่ง และแสนคุ้มค่ากับการมามากเพราะได้เห็นกับตาว่าเขาลูกนี้มีต้นบูลเบอร์รี่ขึ้นเป็นป่าและมากมายเต็มไปทั้งเขา ผลบูลเบอร์รี่ป่ามีสีฟ้าไล่เฉดจากสีขาวจั๊วไปจนสีฟ้าเข็มสดซึ่งสวยงามมาก ผมตัดไปก็เด็ดเข้าปากไป โอ้โห!! อะไรจะมีความสุขกว่านี้แล้วคงไม่มี ! ผลบูลเบอร์รี่สดๆ จะมีรสชาติหวานจางมากกัดแล้วเบากรอบเหมือนกัดฟองน้ำให้ความรู้สึกสดชื่นทุกครั้งที่ง่ำลงไป ในวันที่จัดดอกไม้ ณ พลับพลามณฑลที่สวนในพระราชวังสมเด็จย่า (Dechho ling Palace) เราได้นำช่อบลูเบอร์รี่ป่าผสมผสานกับดอกกล้วยไม้ไทยด้วยกัน
![]() |
ผลบลูเบอร์รี่สดๆ |
วันนั้นได้มีปิยมิตรที่เป็นทีมงานจากช่องสารคดีระดับโลกคือ แนชั่นเนลจีโอกราฟฟิก (National Geographic) มาขอสัมภาษณ์ และถ่ายทำเบื้องหลังการจัดดอกไม้ของทีมพวกเราด้วย ซึ่งเขาได้ขออนุญาติจากรัฐบาลมาถ่ายทำสารคดีเบื้องหน้าและเบื้อหลังงานพระราชพิธีทั้งหมด (อันนี้คงต้องรอและติดตามชมกันในอนาคตอันใกล้)
![]() |
สถานที่พระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง ทาชิโชซอง |
ทีมดอกไม้ได้โชว์ให้เห็นผลงานการจัดดอกไม้ โดยนำดอกกล้วยไม้ไทยมาผสมสานกับใบไม้ในป่า ใบไม้ริมผาและช่อบูลเบอร์รี่ป่าอันสุดวิเศษจากเทือกหิมาลัยซึ่งทีมงานเนชั่นเนลจีโอกราฟฟิกเขาสนใจมากและถ่ายกันใหญ่ก่อนจากลากันทีมดอกไม้ของเราก็ได้ชักภาพร่วมกันเป็นที่ระลึกอีกด้วย หลังจากจบงานพระราชพิธีไปแล้ว คณะเราโดยมีอัมเป็ก คุณวิวัฒน์ (สามีอัมเป็ก) น้องเล็ก คุณโอลิเวียร์ คุณหมู คุณโป้งและผมยังได้รับความเมตตาจากสมเด็จย่า รับสั่งให้เข้าเฝ้าที่พระตำหนักใหม่ พระองค์ท่านทรงพระเมตตา พาเราไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งซึ่งอยู่บนเนินเขาหลังพระราชวังเป็นวัดเล็กๆส่วนพระองค์ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์รัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่เหนือพระราชวังเดิมของพระองค์ท่านบนเนินเขาเตี้ย ๆ
ทรงรับสั่งให้พระชั้นผู้ใหญ่สวดให้พรแก่พวกเรา ทรงมีทาร์ตไวน์บลูเบอร์รี่อันสุดอร่อยและพระราชทานเลี้ยงน้ำชาเราด้วยในวัด ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นทุกคนรู้สึกอิ่มใจเป็นที่สุด เรายังพอมีเวลาเหลืออีกหนึ่งวันที่จะได้ขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พระอารามหลวงทักซัง(Taksang) เมืองพาโรซึ่งเชื่อกันว่าท่านปทุมสมภพ หรือคุรุริมโปเชขี่เสือขึ้นไปบำเพ็ญพรตภาวนา ด้วยวาสนาของผมจึงได้ขึ้นไปไหว้สมใจเพราะเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วคณะเรายังไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปเพราะวันก่อนจะกลับดินแดนมาตุภูมิของเรา พระอารามหลวงได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่คือ ไหม้หมดทั้งหลัง
ตอนนั้นเป็นข่าวเศร้าที่สะเทือนหัวใจชาวภูฏานที่สุดและคณะเราที่เคยมาในครั้งนั้น ก็ยังได้ร่วมกันบริจากเงินถวายเพื่อสร้างพระอารามหลังใหม่ขึ้นมาและครั้งนี้คงเป็นบุญวาสนาและด้วยความตั้งใจที่จะต้องขึ้นไปสักการะให้ได้ จำได้ว่าวันนั้น คณะเราเหนื่อยแบบสุดๆกับการเดินทางไต่เขาหลายสิบๆลูกขึ้นไป (เพราะต่างก็เหน็ดเหนื่อยจากงานพระราชพิธีที่ผ่านมาเกือบ 15 วัน) แต่เมื่อขึ้นไปถึงและได้นั่งภาวนาอยู่ในพระอารามแสงเทียนหน้าองค์พระประทานส่องแสงมลังเมลือง สะท้อนล้อกับสีทองขององค์พระความรู้สึกสงบเงียบ สุขใจ เพราะความศักดิ์สิทธิ์ได้เข้าโอบล้อมรอบตัวเรา ภาพความทรงจำที่เห็นตรงหน้าอาจทำให้ตัวเย็น วาบได้เลยทีเดียว
![]() |
ภายในห้องพาวิลเลี่ยนของสนามกีฬ่าชางกลิมิทัง |
ค่ำคืนวันที่ 12 พฤศจิกายนซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของบ้านเรา ดวงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาขึ้นมา สุกสว่างใสราวดวงไฟสปอตไลต์ขนาดมหึมา งามเหมือนต้องมนต์จนอยากยื่นมือออกไปขอข้าว ขอแกงขอแหวนทองแดงฯลฯ ในคืนพิเศษนั้นเป็นคืนสำคัญที่ต้องจดจำเพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ทรงมีรับสั่งให้ทีมงานชาวไทยทุกคนเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักส่วนพระองค์
วันนั้นพระพักตร์ผ่องบารมีทรงดูอิดโรยเล็กน้อย พระองค์ทรงมีรับสั่งขอบใจทีมงานชาวไทยทุกคน ที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ช่วยให้พระราชพิธีครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างราบรื่นงดงาม จนเป็นที่ประทับใจแก่พระราชอคันตุกะและแขกสำคัญที่มาร่วมงานทุกคน พร้อมกันนี้ผมยังจำพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านตรัสได้อย่างดีว่า "เราอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆหลังนั้น (ทรงชี้พระหัตถ์ให้เราดู) ซึ่งในห้องมีเพียงโทรทัศน์หนึ่งเครื่อง แลปทอปหนึ่งเครื่อง เตียงหนึ่งหลัง และกองหนังสือสูงเท่านี้( ทรงทำพระหัตถ์ประกอบ) เราจะไม่เก็บอะไรเลย เราจะใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ที่ดีคนหนึ่งที่พวกท่านอาจจะเห็นว่าพอจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกหลานของท่านได้ ..."
![]() |
ภายในห้องจัดเลี้ยง Royal Banquet Hall |
แล้วพระองค์ทรงสัมผัสพระหัตถ์กับทุกๆคน เรายืนอมยิ้มกันแก้มแทบปริ รู้สึกปลาบปลื้มปลื้มและเป็นพระมหากรุราธิคุณอย่างล้นพ้น พระองค์ได้พระอนุญาติให้ทีมงานถ่ายรูปร่วมกัน วันนั้นจำได้ว่าใบหน้าทุกคนล้วนปิติหัวใจพองโตและคงไม่มีวันลืม ในเช้าวันสุดท้ายก่อนกลับบนเส้นทางที่มุ่งหน้าเข้าสู่สนามบิน ผมเงยขึ้นไปมองซุ้มประตูสุดท้ายซึ่งมีตัวอักษรเด่นตัวใหญ่บึ้มเป็นภาษาอังกฤษปรากฏ คำว่า "Tashi Delex " (ทาชิ ดิเล็ก) ซึ่งเป็นภาษาภูฏาน มีความหมายว่าโชคดี Good luck หรือ Cheer ! ทำให้ใจผมหายวาบ!
ภาพชอตสุดท้ายจริงๆ ในวันนั้น คือภาพเหล่าปิยมิตรชาวภูฏานในชุดประจำชาติและทีมงานชาวไทยทุกคน ต่างจากลากันด้วยการสวมกอดกันจนกลมดิ๊ก เราคงไม่ต้องพูดคำใดๆออกจากปากสักคำเดียว เพราะในขณะนั้นทุกคนแอบน้ำคลอ ปลื้มในไมตรีจิตที่เรามอบให้ต่อกันและยืนกันซึมไปเลยทีเดียว และนี่คือภาพเดียวที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในกล้องดิจิตอลขนาดพกพาของผมแต่ได้ถูกบันทึกและประทับไว้ติดตรึง "หัวใจ" ของผม ..ไม่มีวันลืม..... Tashi Delex
![]() |
ทีมงานชาวไทยทุกคนเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักส่วนพระองค์ |
Lips Magazine “ Lips Travel “
No10/11 December 2008
Lucky Club Casino Site - Live Dealer Games - Lucky Club
ตอบลบLucky Club is an online gambling site powered by a group of dedicated software professionals and luckyclub industry veterans. Play the best online games, Rating: 2.6 · 2 votes